ประกันรถยนต์มีกี่ประเภท อัพเดทปี 2021

ในยุคปัจจุบัน การเติบโตของตลาดรถยนต์ มีการแข่งขันที่สูงมาก ซึ่งก็มีให้เลือกซื้อหลากหลายรุ่นหลากหลายประเภท ตั้งแต่หลักแสนจะไปถึงหลักหลายสิบล้านบาท และสิ่งหนึ่งที่มีการเติมโตควบคู่ไปกับตลาดรถยนต์ นั่นก็คือ ประกันรถยนต์ ซึ่งก็มีให้เลือกซื้อมากมายหลายบริษัท หลายประเภท แน่นอนว่า ราคาประกันนั้น ก็จะมีค่าเบี้ยที่แตกต่างกันไป ตามประเภทหรือราคารถยนต์ หากเป็นรถญี่ปุ่น รถ ECO Car ก็จะมีค่าเบี้ยประกันตั้งแต่หลักพันปลายๆ จนไปถึงหลักหมื่นต้นๆ หรือถ้าเป็นรถยุโรป รถยุโรป รถ Super Car ก็จะมีค่าเบี้ยประกันตั้งแต่ หลักหลายหมื่นบาท จนไปถึงหลักล้านต่อปี โดยชนิดและประเภทประกันต่างๆ ในแต่ละบริษัทก็มีมากมายก่ายกอง ในบทความนี้ ทีมงาน thekooroo.com ได้รวบรวมประเภท ความหมาย ของประกันรถยนต์ในแต่ละประเภทมาฝากกัน เพื่อจะได้เลือกซื้อความคุ้มครองให้ตรงกับรถและความต้องการของเรามากที่สุดซึ่งสามารถอ่านได้จากบทความนี้


ประกันรถ ชั้น 1

ประกันภัยชั้น 1 หรือ กรมธรรม์ประเภท 1 เป็นประกันที่ผู้ขับขี่นิยมเลือกทำมากเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะรถใหม่ป้ายแดง เนื่องจากให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งให้ความคุ้มครองตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงผู้ขับขี่รวมไปถึงคู่กรณี ซึ่งความคุ้มครองรถยนต์ของผู้เอาประกันส่วนใหญ่จะครอบคลุมตั้งแต่ อุบัติเหตุเฉี่ยวชน, สูญหาย, ไฟไหม้ รวมไปถึงภัยธรรมชาติอย่างเช่นน้ำท่วม เป็นต้น ในส่วนความคุ้มครองผู้ขับขี่ ประกันภัยชั้น 1 ในหลายๆบริษัทส่วนใหญ่จะคุ้มครองตัวบุคคลในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ตามเงื่อนไขของในรถที่เอาประกัน ทั้งจากอุบัติเหตุส่วนบุคคล ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกันผู้ขับขี่กรมธรรม์ของบริษัทประกันภัยที่เราเป็นลูกค้าอยู่ และสุดท้ายความคุ้มครองในส่วนของการคุ้มครองคู่กรณีจากอุบัติเหตุต่างๆ ในส่วนนี้บริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้คู่กรณีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทประกัน และถึงแม้ว่าประกันภัยชั้น 1 จะคุ้มครองมากขนาดไหน แต่ก็มีเงื่อนไขข้อยกเว้นที่ทางประกันไม่สามารถคุ้มครองได้ คือ

  1. เมาแล้วขับ (ไม่ต้องพูดเยอะ เจ็บคอ)
  2. แข่งรถบนถนนหลวง (ในสนามแข่งหลายบริษัทก็ไม่คุ้มครอง)
  3. ความเสียหายจากการลากจูง (จะลากจูงคันอื่น หรือคันอื่นมาลากจูง ส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครอง)

และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องศึกษา และถามตัวแทนขายประกันให้ดี นั่นก็คือ การจ่ายค่าความเสียหายในส่วนแรก ที่เกิดอุบัติเหตุ โดยจะแยกชื่อเรียกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ

  • ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess (เอ็กซ์เซส) คือ ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น หากไม่มีคู่กรณี ก็จะมีค่า Excess ที่ต้องชำระให้ทางบริษัทประกันที่เราซื้อไว้ ซึ่งค่า Excess นั้นก็จะมีราคาส่วนใหญ่ที่ 1,000 บาท แล้วแต่บริษัทประกัน ซึ่งค่าค่าความเสียหายในส่วนแรกแบบ Excess จะจ่าย หรือไม่จ่าย ขึ้นอยู่กับ
    – กรณีที่ต้องจ่าย เช่น กรณีที่รถของคุณเกิดความเสียหายแต่ ไม่สามารถระบุคู่กรณีได้
    – กรณีที่ไม่ต้องจ่าย เช่น กรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุ หรือความเสียหายที่สามารถ ระบุคู่กรณีได้ มีภาพหลักฐานเหตุการณ์ที่ระบุได้ชัดเจน เช่น กล้องหน้ารถ
  • ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible (ดีดัททิเบิลล์ เรียกสั้นๆว่า ดีดัท) จะคล้ายๆ กับแบบ Excess แต่จะแตกต่างตรงที่ ผู้เอาประกันจะถูก จะผิด จะมีคู่กรณีหรือไม่ ทางผู้เอาประกันก็จะต้องจ่ายค่าความเสียหายส่วนแรกนี้ให้กับบริษัทประกันทุกครั้ง ซึ่งข้อดีของการค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible คือ ค่าเบี้ยประกันในปีถัดไป จะไม่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเบี้ย 20,000 บาท ระหว่างปีเกิดอุบัติเหตุจ่ายค่า Deductible 2,000 บาท ค่าเบี้ยในปีต่อไปจะเหลือ 18,000 บาท (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์ของแต่ละบริษัทประกัน) หรือในกรณีที่เราเป็นฝ่ายถูก และคู่กรณีมีประกันชั้น 1 เช่นกัน ในส่วนนี้ เราสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากประกันชั้น 1 ของคู่กรณีได้ โดยที่เราไม่เสียประวัติการเคลมประกันในส่วนของเรา

ประกันรถ ชั้น 2

ประกันภัยชั้น 2 หรือ กรมธรรม์ประเภท 2 แน่นอนว่า ความคุ้มครองไม่ได้ครอบคลุมใกล้เคียงกับประกันชั้น 1 แต่ไม่เท่าประกันชั้น 1 อย่างแน่นอน ซึ่งความต่างจะอยู่ที่วงเงินของความคุ้มคลอง และค่าเบี้ยประกันที่ถูกกว่าประกันชั้น 1 โดยมีรายละเอียดหลักๆ ดังนี้

  1. ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะ โดยส่วนใหญ่บริษัทประกันจะคุ้มครองทั้งผู้เอาประกัน ผู้ขับขี่ รวมไปถึงคู่กรณี โดยมีวงเงินคุ้มครองโดยประมาณ 100,000 – 200,000 บาท แล้วแต่บริษัทที่เราซื้อประกัน
  2. ความคุ้มครองต่อทรัพย์สิน บริษัทประกันส่วนใหญ่จะคุ้มครอง และชดใช้เฉพาะค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่กรณีเพียงอย่างเดียว จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน หรือผู้ที่ซื้อประกันเลย
  3. ความคุ้มครองกรณีสูญหาย-ไฟไหม้ ในส่วนนี้ บริษัทประกันส่วนใหญ่ยังคงคุ้มครองอยู่ โดยจะมีการตรวจสอบการสูญหาย หรือความเสียหายทีเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะไม่เกินวงเงินคุ้มครองสูงสุดที่มีการระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งจะไม่คุ้มครองทรัพย์สินที่สูญหายหรือเสียหายไปพร้อมกับรถคันที่ทำประกันชั้น 2 ไว้

นอกจากประกันชั้น 2 แล้ว ในหลายๆบริษัทประกันก็จะมีออฟชั่นเสริมในส่วนของประกันชั้น 2 เพิ่มเติม เพื่อเป็นตัวเลือกในการคุ้มครองมากขึ้น โดยหลายๆบริษัทประกันก็จะใช้ชื่อการขายว่า ประกันชั้น 2+ (ประกันชั้นสองบวก หรือประกันชั้นสองพลัส แล้วแต่ชื่อเรียกทางการตลาด) ซึ่งประกันชั้น 2+ ในหลายๆบริษัทประกันจะเพิ่มความคุ้มครองในส่วนของ ความเสียหายของรถยนต์ของผู้เอาประกันด้วย โดยจะมีวงเงินคุ้มครองที่จำกัน และค่าความเสียหายส่วนแรกถูกกว่าประกันชั้น 1

ประกันรถ ชั้น 3

Photo by Ian Valerio on Unsplash

ประกันภัยชั้น 3 หรือ กรมธรรม์ประเภท 3 เป็นประกันความคุ้มครองเริ่มต้น มีค่าเบี้ยประกันรายปีที่ถูกกว่า ประกันชั้นภัยชั้น 1 และประกันภัยชั้น 2 แน้่นอนว่า ความคุ้มครองก็จะลดหลั่งลงมาตามประเภทของประกันภัยด้วย ซึ่งประกันภายชั้น 3 ส่วนใหญ่จะให้ความคุ้มครองในส่วนของชีวิต ค่ารักษาพยาบาลและทรัพย์สินคู่กรณีเท่านั้น จะไม่คุ้มครองทรัพย์สินรวมถึงผู้เอาประกันชนิดนี้ และไม่คุ้มครองกรณี รถสูญหาย ไฟไหม้ พูดง่ายๆว่า ประกันภัยชั้น 3 นั้น ทำไว้เพื่อคุ้มครองคู่กรณีฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ต้องรีบแจ้งไปยังบริษัทประกันภัยทันที เนื่องจากต้องทำเรื่องเคลมต่อหน้าคู่กรณีเท่านั้น

ประกันรถ ภาคบังคับ

ประกันภาคบังคับ หรือที่หลายคนน่าจะคุ้นและรู้จักในชื่อของ ประกัน พ.ร.บ. ซึ่งหมายถึง ประกันพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกฎหมายที่บังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องประกันภัยอย่างน้อยที่สุด 1 ประเภท นั่นก็คือประกัน พรบ. ดูแลรับผิดชอบโดยบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีประกันภาคบังคับนั้น เพื่อที่ต้องการให้มีความคุ้มครองแก่บุคคลที่ได้รับหรือประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน โดยที่ไม่สนใจว่า ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุนั้น จะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด ประกันภาคบังคับมีหน้าที่คุ้มครองทั้งหมด ซึ่งประกัน พ.ร.บ. นี้ จะให้ความคุ้มครองเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น หากบุคคลใดที่ใช้รถใช้ถนน ไม่ได้ทำประกันภาคบังคับ จะมีโทษปรับ สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และทำให้ไม่สามารถเสียภาษีรถยนต์ได้ ส่งผลให้ป้ายทะเบียนขาดต่ออายุร่วมด้วย

ราคาประกันภาคบังคับ ของรถยนต์แต่ละประเภท ปี 2564

รถยนต์โดยสารราคา (บาท)
รถยนต์โดยสาร ที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง)600
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง (รถตู้)1,100
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง2,050
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง3,200
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 40 ที่นั่ง3,740
รถกระบะ / รถบรรทุกราคา (บาท)
รถยนต์บรรทุก น้ำหนัก ไม่เกิน 3 ตัน (รถกระบะ)900
รถยนต์บรรทุก น้ำหนัก เกิน 3 ตัน ไม่เกิน 6 ตัน1,220
รถยนต์บรรทุก น้ำหนัก เกิน 6 ตัน ไม่เกิน 12 ตัน1,310
รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรด ขนาดน้ำหนักรวม ไม่เกิน 12 ตัน1,680
รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรด ขนาดน้ำหนักรวม เกิน 12 ตัน2,320
รถยนต์ประเภทอื่น ๆราคา (บาท)
หัวรถลากจูง2,370
รถพ่วง600
รถยนต์ที่ใช้ในการเกษตร90

สรุป

การเลือกซื้อประกันรถ แต่ละประเภทนั้น มีความจำเป็น และความสำคัญอยู่มากในแต่ละชนิดของกรมธรรม์ ซึ่งความคุ้มครองก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทของประกันภัย ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมีความเชื่อว่า จะประกันประเภทไหนก็ตามแต่ มีไว้ ดีกว่าไม่มี หากเราจะเลือกซื้อ ก็ควรดูตั้งแต่ลักษณะการใช้ รวมไปถึงรถที่เราใช้ รวมไปถึงกำลังทรัพย์ที่เราไหวในแต่ละกรมธรรม์ อย่าลืมว่าการซื้อประกันภัยแบบนี้ ไม่ใช่ประกันแบบออมทรัพย์ที่เมื่อซื้อครบกำหนดตามปี จะได้เงินออมและดอกเบี้ยกลับคืนมา หากเราใช้รถน้อย อาจจะเลือกซื้อเบี้ยประกันที่ถูกลงหน่อย แต่ถ้าหากใช้เป็นประจำ ก็ลองดูกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองสมเหตุสมผลและคุ้มค่ากับค่าเบี้ยที่จ่ายไป ทั้งนี้ อย่าลืมที่จะศึกษารายละเอียดความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่เราซื้อให้ชัดเจน รวมไปถึงเบอร์โทรติดต่อในการแจ้งประกันเมื่อเกินอุบัติเหตุขึ้น เพื่อจะได้ทันท่วงทีในความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่สำคัญ ประกันภัย มีดีกว่าไม่มีแน่นอน แต่…มีประกัน ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะการใช้ประกัน หมายถึง เกิดความเสียหายขึ้น ไม่มากก็น้อย สิ่งที่สำคัญคือการใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังบนพื้นฐานความปลอดภัยจะดีที่สุด

Leave a Reply