10 กติกาฟุตบอลที่ไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่จริง

เนื้อหา ซ่อน
10 กติกาฟุตบอลที่ไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่จริง

ในปัจจุบันกติกาฟุตบอลมีมากมายหลายข้อเต็มไปหมด จนบางครั้งแม้กระทั่งตัวนักฟุตบอลเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่ามีกติกาข้อนั้นๆอยู่ บางครั้งคิดว่าใช่กลับไม่ใช่ บางครั้งคิดว่าไม่กลับใช่!!! โดยถ้าหากเพื่อนๆอยากกลับไปอ่านกติกาเบื้องต้นสำหรับกีฬาฟุตบอลเพื่อปูพื้นฐานสำหรับบทความนี้ก่อนก็สามารถย้อนกลับไปอ่านกันได้เลยครับ

จากข้อมูลของทาง Unisport ได้รวบรวม 10 กติกาฟุตบอลที่มีอยู่จริงและไม่น่าเชื่อว่าจะมี หรือที่ใช้ชื่อว่า “10 football rules you didn’t know existed” โดยหลายๆเหตุการณ์ก็ได้เกิดขึ้นจริงและถกเถียงกันแบบไม่รู้จบก็มีมาแล้ว เราไปดูกันทีละข้อเลยดีกว่าครับ

10 กติกาฟุตบอลที่ไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่จริง

1.) ลูกฟุตบอลที่เข้าประตูจะไม่นับเป็นประตู ถ้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์

การแข่งขันฟุตบอลทั่วๆไป ถึงอย่างไรแล้วการที่จะได้ประตูแต่ละประตู ลูกฟุตบอลที่เข้าไปตุงตาข่ายก็ควรจะต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ (พูดง่ายๆว่าไม่แฟบหรือยุบ) แต่ที่ผ่านมามีอยู่หลายเหตุการณ์ที่ไม่เป็นเช่นนั้น!! บางครั้งลูกบอลแฟบหลังจากที่เกิดการปะทะกันของผู้เล่น หรือบางครั้งก็อาจเป็นเพราะนักฟุตบอลบางคนแรงมหาศาลทำให้ลูกฟุตบอลแฟบไปได้

เพราะฉะนั้นการสูบลมอย่างเหมาะสมและตรวจสอบตลอดเวลาจะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นแม้ลูกฟุตบอลจะเข้าตุงตาข่ายสวยงามเพียงใดก็จะไม่นับเป็นประตู แต่ผู้เขียนอยากจะยกหนึ่งเหตุการณ์มาให้เพื่อนๆได้ช่วยกันพิจารณาสักหน่อยว่าสมควรเป็นประตูหรือไม่???

ย้อนกลับไปในศึก Premier League เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เป็นการแข่งขันระหว่าง Sunderland สโมสรเล็กๆที่สร้างความฮือฮาในยุคนั้นด้วยการปราบทีมใหญ่ๆมานับไม่ถ้วน หนึ่งในเหยื่อของพวกเขาคือ Liverpool

โดยในเกมวันนั้น Sunderland เอาชนะ Liverpool ไปได้ 1-0 จากประตูชัยของ Darrent Bent กองหน้าตัวเก่งทีมชาติ England ในยุคนั้น แต่ความปราชัยของเหล่าพลพรรค The Kop ในวันนั้นยังไม่เจ็บใจเท่ากับการเสียประตู

นาทีที่ 5 ของเกม Darrent Bent ได้บอลทางริมกรอบเขตโทษด้านซ้ายก่อนที่จะแปลบอลด้วยขวา ลูกบอลไปแฉลบเท้าของ Glen Johnson กองหลัง Liverpool ก่อนจะไปกระเด้งกับเจ้าลูกบอลชายหาด!!! ฟังไม่ผิดนะครับ ลูกบอลชายหาดมาจากไหนไม่มีใครทราบ ทำให้ลูกบอลเปลี่ยนทิศทางเกินปัญญา Jose Manuel Reina ผู้รักษาประตูของ Liverpool จะเซฟได้

ท่ามกลางการประท้วงของเหล่าผู้เล่น Liverpool แต่ทีมงานผู้ตัดสินเป่านกหวีดปรี๊ดให้เป็นประตูพร้อมเสียงร้องเฮกึกก้องจากแฟนบอลเจ้าถิ่น และแน่นอนครับ….เหล่าสาวก The Kop โห่กันลั่นสนาม

หลังจากเกมวันนั้นจึงได้มีบรรทัดฐานใหม่ในการแข่งขัน Premier League รวมถึงรายการอื่นๆทั่วโลกว่า ถ้าลูกฟุตบอลมีการกระทบหรือแฉลบสิ่งของใดสิ่งของหนึ่งเปลี่ยนทางเข้าประตู จะไม่ถือว่าเป็นประตู แม้กระทั่งในปัจจุบันถ้าลูกฟุตบอลไปโดนตัวผู้ตัดสินระหว่างแข่งขัน จะมีการหยุดเกมและ Drop Ball

2.) ใบเหลืองจากการได้รับเมื่อทำท่าดีใจจะยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าจะโดนริบประตูคืน

เป็นเรื่องธรรมดามากๆเวลาที่นักฟุตบอลจะแสดงความดีใจด้วยท่าทางต่างๆหลังจากทำประตูได้ ซึ่งหนึ่งในท่านิยมก็คือการถอดเสื้อโบกสะบัดไปมา

ทั้งที่การถอดเสื้อดีใจในยุคก่อนๆถือว่าไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด แต่ 10 ปีหลังมานี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาร่วมกันว่า การถอดเสื้อดีใจถือว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีสำหรับเยาวชน จึงทำให้ออกกฏมาว่า นักฟุตบอลคนใดที่ดีใจด้วยการถอดเสื้อหลังจากทำประตูได้ จะโดนใบเหลือง

ผู้เล่นที่ถอดเสื้อดีใจหลังจากยิงประตู (รวมไปถึงการแสดงท่าทางดีใจที่เป็นการล้อเลียน ยั่วยุฝ่ายตรงข้าม) ผู้ตัดสินจะแจกใบเหลืองทันที ถึงแม้ว่าต่อมาระบบ Video Assistant Referee (VAR) จะมีการกลับคำตัดสินปฏิเสธประตูนั้นๆ นักเตะเหล่านั้นจะยังคงได้รับใบเหลืองอยู่ดีสำหรับท่าทางการดีใจที่ผิดกติกา

เรียกได้ว่าเป็นมหาเฮงที่นักเตะคนใดก็ไม่อยากเจอ ทั้งที่ไม่ได้ประตูแถมยังโดนใบเหลืองอีกด้วย และนักเตะที่โดนใบเหลืองข้อหานี้เป็นประจำยกตัวอย่างเช่น

  • Christiano Ronaldo เจ้าของสถิติมากมายสมัยเล่นให้กับ Real Madrid ยักษ์ใหญ่แห่งศึก La Liga ประเทศสเปน
  • Mario Balotelli สมัยแข่งฟุตบอล Euro 2012 ร่วมกับทีมชาติอิตาลี
  • Ryan Giggs อดีตปีกพ่อมดจากสโมสร Manchester United ที่ทำประตูใส่ Arsenal ในรอบรองชนะเลิศ FA Cup

3.) ผู้เล่นสามารถโดนไล่ออกได้ตั้งแต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น

เหตุการณ์นี้อาจจะเห็นได้ไม่บ่อยนัก ที่เห็นจะใกล้เคียงและติดตาแฟนบอลเป็นอย่างมากก็คือ Kungfu Kick ของ Eric Cantona กัปตันทีมผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของประวัติศาสตร์สโมสร Manchester United ที่กระโดดเตะใส่แฟนฟุตบอลของทีม Crystal Palace ในศึก Premier League ฤดูกาล 1995/96

แต่ถ้าเป็นลักษณะแบบนี้ก่อนเกมการแข่งขันก็คงต้องพูดถึง Patrice Evra อดีตกองหลังกัปตันทีม Manchester United อีกคนหนึ่ง แต่ ณ วันนั้นเขาค้าแข้งอยู่กับ Olympic Marseille ในประเทศฝรั่งเศส

โดยเป็นเกม UEFA Europa League ที่สโมสรของ Evra เปิดบ้านรับการมาเยือนของ Vitoria Guimaraes ของประเทศโปรตุเกส ซึ่งเกมนัดนั้น Patrice Evra มีรายชื่อเป็นตัวสำรอง แต่ก่อนเริ่มเกมไม่กี่นาทีระหว่างที่อบอุ่นร่างกายอยู่ข้างสนามได้มีแฟนบอลบางกลุ่มมาร้องเพลงล้อเลียนจนทำให้ตัวเขาไม่พอใจ กระโดดถีบแฟนบอลคนนั้นเข้าอย่างจัง ผู้ตัดสินตัดสินใจควักใบแดงให้ Evra ออกจากสนามทั้งๆที่ยังไม่ได้เริ่มแข่งขันด้วยซ้ำ

4.) จำนวนผู้เล่นที่เตะจุดโทษตัดสินต้องมีจำนวนเท่ากันทั้งสองทีม

กติกาฟุตบอลข้อนี้พูดง่ายๆว่า ถ้าทีมใดทีมหนึ่งมีผู้เล่นโดนใบแดงไล่ออกจากสนามระหว่างเกมการแข่งขัน และในวันนั้นต้องตัดสินด้วยการเตะจุดโทษ จำนวนผู้เล่นจะต้องมีเท่ากัน เพราะฉะนั้นทีมที่มีจำนวน 11 คนจะต้องถอดชื่อออก 1 คนเพื่อไม่มีส่วนร่วมกับทีมในการเตะจุดโทษตัดสิน

ถ้าให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพที่สุดก็คือการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ World Cup 2006 ระหว่าง Italy กับ France ที่เสมอกันในเวลาก่อนที่ Italy จะชนะลูกจุดโทษคว้าแชมป์โลกไปครองได้อย่างยิ่งใหญ่

ในนัดนั้น Zinedine Zidane กองกลางกัปตันทีมตัวเก่งของ France พลาดท่าโดนใบแดงจากการเอาหัวไปโขกใส่หน้าอกของ Marco Materazzi กองหลังทีมชาติ Italy อย่างจังหลังจากถูกยั่วยุและด่าไปถึงบุพการี ทำให้การตัดสินด้วยการเตะจุดโทษ Italy ต้องถอดผู้เล่นออกหนึ่งคนเพื่อจำนวนจะได้เท่ากับผู้เล่นทีมชาติ France

5.) การแข่งขันฟุตบอลเริ่มต้นได้ถึงแม้ว่ามีทีมละ 7 คน

เพื่อนๆฟังไม่ผิดนะครับ และไม่ใช่ฟุตซอลหรือบอล 7 คนแต่อย่างใด!! การแข่งขันฟุตบอลในนัดหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้ามีผู้เล่นเพียงทีมละ 7 คน เรียกได้ว่าน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดถึง 4 คน

ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการแต่ใช่ว่าสิ่งนี้จะไม่เคยเกิดขึ้น แต่หากเป็นในระดับภูมิภาคเสียมากกว่าที่มีการเล่นรุนแรงขนาดมีผู้เล่นโดนใบแดงไล่ออกพร้อมกันถึง 4 คน ทำให้เหลือผู้เล่นเพียง 7 คนในการทำการแข่งขันต่อ

แต่ถ้าหากพูดถึงในระดับนานาชาติหรือลีกใหญ่ๆอย่าง Premier League, Bundesliga, La Liga หรือ Calcio Seria A ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่จะพูดในทางทฤษฎีแล้วมันสามารถเกิดขึ้นได้ก็เท่านั้นเอง!! ตราบใดที่ทีมสามารถลงจัดผู้เล่นลงสนามได้อย่างน้อย 7 คนเกมก็สามารถเริ่มเกมการแข่งขันได้

6.) ในการเล่นลูกนิ่ง จะไม่มีผู้เล่นฝ่ายรุกเข้าใกล้กำแพงเกิน 1 เมตร

เรียกได้ว่าเป็นกติกาฟุตบอลใหม่แกะกล่องเลยก็ว่าได้ เพิ่งถูกนำมาใช้ในช่วงปีที่แล้ว เหตุผลในการออกกติกาข้อนี้มาเนื่องจากบางครั้งผู้เล่นฝ่ายรุกไปยืนคั่นอยู่ในกำแพงซึ่งดูไม่มีน้ำใจนักกีฬาในการเล่นและเป็นการเอาเปรียบคู่ต่อสู้จนเกินไป

คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (International Football Association Board) หรือ ไอเอฟเอบี (IFAB) กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเหตุผลเลยสำหรับฝ่ายรุกที่จะอยู่ในกำแพง และการปรากฏตัวของพวกเขามักจะสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของเกม”

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงตั้งกฏว่าจะต้องไม่มีผู้เล่นจากฝ่ายรุกคนใดอยู่ใกล้กำแพงเกิน 1 เมตรเป็นอันขาด มิเช่นนั้นจะถือว่าเป้นการผิดกติกาและผู้ตัดสินสามารถให้ใบเหลืองได้เลย

7.) ลูกทุ่ม (Throw In) โดยตรงจะไม่นับเป็นประตู

โอกาสที่ผู้เล่นสักคนจะทำประตูด้วยลูกทุ่มแทบจะไม่มีความเป็นไปได้ หรือแม้กระทั่งการทำเข้าประตูตัวเองจากลูกทุ่มยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้เข้าไปใหญ่ แต่ก็นั่นแหละครับ…..มันมีอยู่จริง

ในศึก Premier League เมื่อปี 2002 เกมการแข่งขันระหว่าง Aston Villa กับ Birmingham City ได้เกิดเหตุการณ์ช็อกโลกขึ้น เมื่อกองหลังตัวเก่งของ Aston Villa อย่าง Olof Mellberg ทุ่มลูกกลับไปที่ผู้รักษาประตูทีมตัวเองอย่าง Peter Enckleman

ปรากฏว่าบอลไปแตะโดยปลายสตั๊ดของ Enckleman ก่อนจะเด้งเข้าประตูไป ผู้ตัดสินมองว่าปลายสตั๊ดสัมผัสลูกบอลเล็กน้อยจึงตัดสินให้เป็นการทำเข้าประตูตัวเองของ Enckleman

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าลูกบอลพุ่งตรงไปจากการทุ่มของ Mellberg เลย จังหวะนี้จะไม่ถือว่าเป็นประตูแต่อย่างใด

8.) ทีมที่ชนะการเสี่ยงทายเหรียญ จะสามารถเลือกได้ว่า…..

ก่อนเกมการแข่งขันเป็นธรรมเนียมอยู่แล้วว่าจะต้องมีการเสี่ยงทายเหรียญว่าจะออกหัวหรือก้อย ยุคสมัยก่อนกัปตันทีมฝั่งผู้ชนะการเสี่ยงทายจะสามารถเลือกแดนได้เท่านั้นว่าจะอยู่ฝั่งใด

แต่ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา กัปตันทีมสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นฝ่ายเริ่มเกมก่อน (เขี่ยบอล) หรือเลือกแดนเมื่อพวกเขาชนะการเสี่ยงทายเหรียญ เรียกได้ว่าให้อิสระในการเลือกแก่ผู้ชนะการเสี่ยงทายมากขึ้น

9.) การยืนตำแหน่งของผู้รักษาประตูเมื่อต้องเซฟจุดโทษ

กติกาฟุตบอลเบื้องต้นที่ผู้รักษาประตูต้องรู้กันอยู่แล้วเวลาเสียจุดโทษก็คือ ผู้รักษาประตูต้องไม่สัมผัสเสาประตู, คานประตูหรือตาข่าย และกฏข้อสำคัญที่เพิ่มมาก็คือ เท้าข้างใดข้างหนึ่งจะต้องอยู่บนเส้นประตูก่อนที่ลูกบอลจะออกจากเท้าคนยิง

ด้วยกติกาข้อนี้ต้องใช้การสังเกตเป็นอย่างมาก ผู้ช่วยผู้ตัดสินและผู้ตัดสินจะช่วยกันมองเป็นพิเศษ ถ้าเท้าข้างใดข้างหนึ่งไม่อยู่บนเส้นประตูก่อนที่จะยิง ผู้ตัดสินสามารถให้ผู้เล่นทีมรุกยิงจุดโทษใหม่ได้โดยทันทีและยังสามารถให้ใบเหลืองแก่ผู้รักษาประตูข้อหาทำผิดกติกาได้อีกด้วย

การเซฟจุดโทษในตำนานอีกเกมหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ UEFA Champion League นัดชิงชนะเลิศในปี 2005 ที่กรุง Istanbul ประเทศ Turkey

ผลปรากฏว่า Liverpool เอาชนะ AC Milan ไปได้ในการดวลจุดโทษ และ Super Hero ของพลพรรค The Kop ในวันนั้นก็คือ Jerzy Dudek ที่เซฟได้ถึงสองจุดโทษพาทีมคว้าแชมป์ยุโรปเป็นสมัยที่ 5 ได้สำเร็จ

10.) ผู้รักษาประตูสามารถถือลูกได้ไม่เกิน 6 วินาที

จริงๆกติกาฟุตบอลข้อนี้เพื่อนๆรวมถึงผู้เขียนได้ยินมานานมากแล้วและรู้ว่ามีอยู่จริง แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปการผ่อนปรนจึงเป็นสิ่งที่เห็นได้โดยทั่วไป นอกจากจะถือเป็นครึ่งนาที แบบนั้นคงเกินไปหน่อยและผู้ตัดสินสามารถเป่านกหวีดให้เป็นลูกฟรีคิก (Free Kick) สองจังหวะ ณ จุดเกิดเหตุได้เลย

ทั้งหมดคือ 10 กติกาฟุตบอลที่ไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่จริงที่ผู้เขียนนำมาฝากกัน เพื่อนๆคนใดคิดกติกาข้อไหนออกนอกเหนือจากนี้เข้ามา Comment พูดคุยกันหน่อยนะครับ

บทความที่น่าสนใจ : https://www.thekooroo.com/content/

Leave a Reply