Ryder Cup : ศึกกอล์ฟที่ช่วงชิงความเป็นหนึ่งระหว่าง USA และ Europe

“The Honor of Golfing Life” น่าจะเป็นคำจำกัดความได้ดีที่สุดสำหรับศึกกอล์ฟแห่งศักดิ์ศรีอย่าง “Ryder Cup” การดวลสุดเร่าร้อนระหว่างขุนพลตัวฉกาจของทีมสหรัฐอเมริกา (USA) และ ยุโรป (Europe)

กีฬากอล์ฟจะว่าไปแล้วเป็นกีฬาที่เข้าถึงยากกว่ากีฬาเทนนิสที่ผู้เขียนเคยได้กล่าวถึงในบทความที่แล้วเสียอีก เนื่องจากราคาของอุปกรณ์ต่างๆค่อนข้างที่จะแพงมากและสนามที่ต้องเป็นกลุ่มเฉพาะจริงๆเท่านั้น

แต่เสน่ห์ของ Ryder Cup และผู้จัดการแข่งขันค่อนข้างทำได้ดีก็คือการทำให้คนที่ไม่สนใจ, ไม่ชอบเล่น, ไม่ชอบดูกีฬากอล์ฟยอมเสียเวลาเงี่ยหูฟังผลการแข่งขันหรือแม้กระทั่งอดตาหลับขับตานอนเพื่อชมการแข่งขันอย่างที่ผู้เขียนเป็น!!

เพราะเหตุใด Ryder Cup ถึงดึงดูดคนไม่ชอบดูกอล์ฟได้??

  • รูปแบบการแข่งขันที่สนุกสนานเร้าใจ หรือที่เรียกกันว่า “Match Play” อธิบายง่ายๆคือการดวลกันแบบแต้มต่อแต้ม ใน 18 หลุมที่แข่งขันกัน ใครชนะหลุมใดก็ได้ไปเลย 1 คะแนน เมื่อแข่งขันจนครบใครทำคะแนนดีกว่าก็จะคว้าชัยให้กับทีมตัวเองได้
  • การรวมตัวกันของเหล่า SuperStar ในวงการกอล์ฟ เพราะปฎิเสธไม่ได้เลยว่าในวงการกอล์ฟโลก นักกีฬาจากสหรัฐอเมริกา (USA) แทบจะครองความยิ่งใหญ่อยู่ในการจัดอันดับโลก (Official World Golf Rankings) ทุกยุคทุกสมัย ที่เรารู้จักกันดีคือ Tiger Woods, David Love III และ Phil Mickelson
  • ส่วนทีมยุโรป (Europe) ก็ขนดารามาแข่งไม่แพ้กันในแต่ละครั้งส่วนใหญ่จะนำทีมโดยนักกอล์ฟจากสหราชอาณาจักร (Great Britain) ไม่ว่าจะเป็น Justin Rose, Luke Donald และ Rory Mcilroy

เรียนรู้ภาษากอล์ฟเพื่อเพิ่มอรรถรส

ก่อนที่ผู้เขียนจะพาเพื่อนๆไปทำความรู้จักกับการแข่งขัน Ryder Cup ให้มากขึ้นกว่านี้ ขอพาเพื่อนๆทุกคนไปเรียนรู้ภาษากอล์ฟเพื่อเพิ่มความสนุกในการอ่านบทความนี้ หรือการได้มีโอกาสดูการถ่ายทอดในอนาคต

ในกีฬากอล์ฟเราจะเรียกจำนวนครั้งที่ตีออกไปว่า “สโตรค” (Stroke) โดยในแต่ละหลุมของแต่ละสนามจะมีการกำหนดมาตรฐานจำนวนครั้งที่ตีเพื่อลงหลุมว่า “พาร์” (Par) โดยผู้จัดการแข่งขันจะพิจารณาจากความยากง่ายของหลุมนั้นๆ ซึ่งในแต่ละหลุมจะแบ่งออกเป็น

1.) ลักษณะหลุม

  • หลุม Par 3 – การนับช็อตจะนับตั้งแต่ที่ผู้เล่นตีออกจากแท่นตีจนกระทั่งลูกลงหลุม ถ้าตีได้ 3 ครั้งลงหลุมเรียกว่า “เก็บ Par” หรือพูดง่ายๆคือผู้เล่นมีความสามารถตีได้เท่ากับแต้มมาตรฐานของหลุมนี้ ถ้าตีได้น้อยกว่า 3 ครั้งเรียกว่า “เก็บ Birdie” แต่ถ้าเกิน 3 ครั้งก็จะถูกหักคะแนนไปเรื่อยๆตามช็อตที่ตีไป ซึ่งจะมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปสนามจะมีความยาวประมาณ 150-180 หลา ในระดับสมัครเล่นหรือเกิน 200 หลาสำหรับมืออาชีพ
  • หลุม Par 4 – การนับแต้มจะคล้ายกับ Par 3 เลยก็คือ นับตั้งแต่ที่ผู้เล่นตีออกจากแท่นตีจนกระทั่งลูกลงหลุม ถ้าตีได้ 4 ครั้งลงหลุมเรียกว่า “เก็บ Par” โดยทั่วไปสนามจะมีความยาวประมาณ 300-400 หลา
  • หลุม Par 5 – การนับช็อตจะนับตั้งแต่ที่ผู้เล่นตีออกจากแท่นตีจนกระทั่งลูกลงหลุม ถ้าตีได้ 5 ครั้งลงหลุมเรียกว่า “เก็บ Par” โดยทั่วไปสนามจะมีความยาวเกิน 500 หลา

สรุปแล้วถ้า Par 3 ตี 3 ครั้งลงหลุมคือได้ Par หรือ Par 4 ตี 4 ครั้งลงหลุมก็คือได้ Par นั่นเอง

เมื่อผู้เข้าแข่งขันตีครบทั้ง 18 หลุมแล้วแต้มรวมใครต่ำที่สุดถือว่าเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในการแข่งขันนั้นๆ ยิ่งถ้าเราตีได้จำนวนครั้งน้อยเท่าไหร่คะแนนก็จะดีเท่านั้น นี่คือการเล่นแบบ Stroke Play

2.) ลักษณะการนับคะแนน

ในกีฬากอล์ฟ “คะแนนยิ่งลบยิ่งดี คะแนนยิ่งบวกยิ่งไม่ดี” ซึ่งลักษณะของการนับคะแนนมีดังนี้

  • Eagle – นักกอล์ฟตีลูกลงหลุมได้ต่ำกว่าแต้มมาตรฐานของแต่ละหลุมไป 2 Stroke ซึ่งมักจะเห็นได้บ่อยในหลุม Par 5 ยกตัวอย่างเช่น Par 5 แต่เราตีเพียง 3 ครั้งแล้วลงหลุม
  • Birdie – นักกอล์ฟตีลูกลงหลุมได้ต่ำกว่าแต้มมาตรฐานของแต่ละหลุมไป 1 Stroke ยกตัวอย่างเช่น Par 4 แต่เราสามารถตีเพียง 3 ครั้งแล้วลงหลุม
  • Par – นักกอล์ฟตีลูกลงหลุมได้เท่ากับแต้มมาตรฐานของแต่ละหลุม ยกตัวอย่างเช่น Par 3 เราสามารถตี 3 ครั้งแล้วลงหลุม
  • Bogey – นักกอล์ฟตีลูกลงหลุมได้เกินกว่าแต้มมาตรฐานของแต่ละหลุมไป 1 Stroke ยกตัวอย่างเช่น Par 3 แต่เราตีตั้ง 4 ครั้งกว่าจะลงหลุม
  • Double Bogey – นักกอล์ฟตีลูกลงหลุมได้เกินกว่าแต้มมาตรฐานของแต่ละหลุมไป 2 Stroke ยกตัวอย่างเช่น Par 4 แต่เราตีตั้ง 6 ครั้งกว่าจะลงหลุม

ประวัติความเป็นมาของ Ryder Cup

หลังจากที่พาเพื่อนๆไปทำความรู้จักศัพท์น่ารู้ในกีฬากอล์ฟกันแล้ว เรามาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่ากับรายการแข่งขันกอล์ฟที่เรียกได้ว่ามีผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในโลก

กว่าเกือบศตวรรษที่กอล์ฟรายการศักดิ์สิทธิ์นี้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศ Scotland จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับกีฬากอล์ฟ โดยเกิดความคิดริเริ่มที่ว่าทำอย่างไรให้กีฬากอล์ฟดึงดูดความสนใจจากผู้คนทั่วโลก

จึงได้มีความคิดให้มีแมตซ์การแข่งขันกอล์ฟระหว่างทีมสหรัฐอเมริกา (USA) กับทีมสหราชอาณาจักร (Great Britain) ในรูปแบบการแข่งขันแบบทีมใน Theme ที่ว่า “เกียรติยศมีคุณค่าเหนือเงินตรา

การแข่งขันครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1921 โดยเป็นการแข่งขันของนักกอล์ฟมือสมัครเล่นระหว่างทีมสหรัฐอเมริกาจำนวน 10 คนกับทีมสหราชอาณาจักรจำนวน 10 คน ซึ่งในครั้งนั้นจัดขึ้นที่สนาม King Course ครั้งนั้นแบ่งการแข่งขันออกเป็นแบบ Foursome 5 แมตช์ (ตัวแทนทีมละ 1 คู่ใช้ลูกกอล์ฟลูกเดียวสลับกันตีคนละช็อต) และแบบ Single 10 แมตช์ (แข่งกันแบบตัวต่อตัว) และเป็นทีมเจ้าถิ่นสหราชอาณาจักรชนะสหรัฐอเมริกาไป 10.5 ต่อ 4.5

ส่วนชื่อ Ryder Cup แท้จริงแล้วเริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1927 เมื่อแซมมวล ไรเดอร์ (Samuel Ryder) นักธุรกิจค้าข้าวรายหนึ่งซึ่งคลั่งไคล้ในกีฬากอล์ฟอย่างมากตัดสินใจมอบเงินจำนวนหนึ่งเพื่อจัดทำถ้วยรางวัลขึ้นมา เพื่อทำให้กอล์ฟรายการนี้เป็นทางการและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ในครั้งนั้นจัดขึ้นที่เมือง Worcester รัฐ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าถิ่นนำทีมโดย Walter Hagen เจ้าของตำนาน Major 11 สมัย ส่วนทีมสหราชอาณาจักรนำโดย Edward Ted Ray ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำถ้วยของ Samuel Ryder มาเป็นถ้วยรางวัลอีกด้วย โดยครั้งนั้นจบลงด้วยการที่สหรัฐอเมริกาเอาชนะสหราชอาณาจักรไปได้แบบขาดลอย 9.5 ต่อ 2.5

หลังจากนั้น Ryder Cup จึงเป็นที่รู้จักและใฝ่ฝันของนักกอล์ฟจากทั่วภูมิภาค ทำให้การแข่งขันในปี 1973, 1975 และ 1977 ชื่อของทีมการแข่งขันจึงถูกเปลี่ยนเป็น “ทีมสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ (Great Britain & Ireland)” ก่อนจะเพิ่มความเข้มข้นเมามันส์เป็น “ทีมยุโรป (Europe)” เฉกเช่นปัจจุบัน

การแข่งขันอาจจะมีเว้นว่างไปบ้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาน 6 ปี (ปี 1939-1945) และอีกช่วงก็คือเหตุการณ์ 9/11 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2001 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมของ Ryder Cup ลดน้อยถอยลง

สถิติการแข่งขัน USA Team VS Europe Team

American Domination คือชื่อเรียกยุคทองของทีมสหรัฐอเมริกาที่สามารถคว้าชัยเหนือทีมยุโรปได้ 8 สมัยซ้อนในช่วงปี 1969 – 1983 แต่ใครจะรู้ว่าพวกเขายังไม่เคยคว้าแชมป์ในถิ่นยุโรปมา 25 ปีติดต่อกัน ถึงแม้เป็นแชมป์มาได้มากที่สุดถึง 26 สมัย ส่วนใหญ่จะเป็นการคว้าแชมป์ในบ้านของตัวเอง

  • ทีมสหรัฐอมริกา (USA) – แข่ง 42 แมตช์ระหว่างปี 1927-2018 ชนะ 26 / แพ้ 14 / เสมอ 13
  • ทีมสหราชอาณาจักร (Great Britain) สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ (Great Britain & Ireland) – แข่ง 22 แมตช์ระหว่างปี 1927-1977 ชนะ 3 / แพ้ 18 / เสมอ 1
  • ทีมยุโรป (Europe) – แข่ง 20 แมตช์ระหว่างปี 1979-2018 ชนะ 11 / แพ้ 8 / เสมอ 1

นักกอล์ฟชื่อก้องโลกที่เคยร่วมแข่งขัน

  • USA Team – Tiger Woods, Phil Mickelson, David Duval, David Love III, Jim Furyk, Justin Leonard, Tom Lehman
  • Europe Team – Colin Montgomerie, Sergio Garcia, Darren Clarke, Paul Casey, Lee Westwood, Padraig Harrington, Justin Rose

นี่จึงเป็นเหตุผลทั้งหมดว่าทำไม Ryder Cup จึงเป็นการแข่งขันกอล์ฟที่ขึ้นชื่อว่าได้รับความนิยมและมียอดผู้ชมมากที่สุดในโลกตลอดกาล

ขอบคุณข้อมูล : https://golfdiggtoday.com/

บทความที่น่าสนใจ : https://www.thekooroo.com/content/

Leave a Reply