FIFA World Cup balls : วิวัฒนาการของลูกฟุตบอลกว่า 90 ปี [ยุคกลาง]

กลับมาตามคำสัญญาเกี่ยวกับ “FIFA World Cup balls” หรือลูกฟุตบอลที่เคยใช้ใน World Cup แต่ละครั้งที่ผ่านมา บทความที่แล้วผู้เขียนได้พูดถึงวิวัฒนาการของลูกฟุตบอลในช่วงยุคแรก บทความนี้เรามาไล่กันตั้งแต่ World Cup ยุคกลางกันบ้างครับ

FIFA World Cup balls หรือลูกฟุตบอลที่ใช้ในฟุตบอลโลก

ปี 1966 – ลูกฟุตบอล Challenge 4-Star (Host – England)

เริ่มต้นยุคกลางกันด้วยความยิ่งใหญ่ของทัพ “Three Lions” หรือทีมชาติ England นั่นเอง การคว้าแชมป์ World Cup ครั้งแรกและครั้งเดียวของพวกเขาเป็นที่จดจำมากกว่าลักษณะของลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันเป็นแน่แท้

“Challenge 4-Star” คือ FIFA World Cup balls ในครั้งนั้น มีจุดเด่นในเรื่องน้ำหนักเบาแต่มาพร้อมความสมส่วนและที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คือเป็นลูกฟุตบอลชุดแชมป์โลกของทีมชาติ England ซึ่งรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในปีนั้น มาพร้อมรูปลักษณ์ที่ดูน่าเกรงขามกว่าเดิมชื่อว่า “Slazenger”

นัดชิงชนะเลิศแข่งกันที่สนาม Wembley ในกรุง London เป็นการพบกันระหว่าง England เจ้าภาพกับ West Germany (แชมป์ 1 สมัยในปี 1954) โดยแข่งขันกันเมื่อ 30 กรกฏาคม 1966

เหล่าบรรดาแฟนบอลของทัพสิงโตคำราม รวมไปถึงนักเตะทุกคนหมายมั่นปั้นมือจะครองแชมป์บนแผ่นดินเกิดให้ได้ การจัดทัพนำโดยดาวดังในยุคนั้นแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้รักษาประตูจอมเหนียวหนึบอย่าง Gordon Banks, Bobby Moore กองหลังกัปตันทีม, สองพี่น้องตระกูล Charlton อย่าง Jack และ Bobby รวมไปถึงกองหน้าจอมถล่มประตูอย่าง Geoff Hurst

ส่วนฝั่งทัพอินทรีเหล็กมีกองกลางระดับตำนานอย่าง Franz Beckenbauer และกองหน้าตัวเก่งผู้ที่เคยคุมทีมชาติไทยอยู่ช่วงหนึ่งในปี 2004 อย่าง Sigfried Held

เกมนัดนี้สู้กันได้อย่างสนุกสูสี West Germany ได้ประตูนำก่อนจาก Helmut Haller ตั้งแต่ 12 นาทีแรกแต่หลังจากนั้นเพียง 6 นาที Geoff Hurst มาซัดประตูตีเสมอให้กับทีมชาติ England ได้ ก่อนที่จะพลิกนำด้วยการยิงของ Martin Peters ในนาทีที่ 78 แต่กลับโดนตีเสมอในช่วงนาทีสุดท้ายจาก Wolfgang Weber ทำให้จบ 90 นาทีสกอร์เสมอกันอยู่ 2-2 ต้องสู้กันต่อในช่วงต่อเวลาพิเศษ

และเมื่อเกมดำเนินมาจนถึงนาทีที่ 101 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของศึก World Cup ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น…..

Geoff Hurst กองหน้าทีมชาติ England หลบกองหลัง West Germany ก่อนยิงเสียบใต้คาน ลูกบอลพุ่งไปชนคานอย่างแรงก่อนที่จะเด้งลงมาบนเส้นประตู ณ จังหวะนั้นแฟนบอลทั้ง Wembley โห่ร้องดีใจท่ามกลางความเงียบสงัดของแฟนทีมเยือน และหลังจากที่ผู้ตัดสินกับผู้ช่วยได้ร่วมกันพิจารณาอยู่ครู่หนึ่งจึงตัดสินใจให้เป็นประตูขึ้นนำ 3-2 ของเจ้าถิ่น นี่คือหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงว่าเป็น Super Drama ครั้งหนึ่งในประวิติศาสตร์!!!

หลังจากนั้น Geoff Hurst จะทำประตูตอกย้ำได้อีกหนึ่งลูกพร้อมเป็นนักเตะคนแรกและคนเดียวที่ทำ Hat-trick ได้ในนัดชิงชนะเลิศ World Cup ส่ง England คว้าแชมป์โลกเป็นสมัยแรกได้สำเร็จ

ปี 1970 – ลูกฟุตบอล Telstar (Host – Mexico)

ปี 1970 นับว่าเป็นปีแห่งการปฏิวัติวงการ FIFA World Cup balls อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นปีแรกที่ Adidas บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาสัญชาติ Germany มารับหน้าที่ออกแบบลูกฟุตบอลให้จากผลงานที่เป็นที่น่าจดจำในฟุตบอล European Cup ปี 1968

ลักษณะของเจ้า “Telstar” เปลี่ยนจากวัสดุที่นำมาผลิตก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง โดยทำมาจากหนังที่เย็บติดกัน 32 ชิ้น และแบ่งเป็นสีดำห้าเหลี่ยม 12 ชิ้นกับสีขาวหกเหลี่ยมอีก 20 ชิ้นตามแบบฉบับของความ Classic ที่เราเห็นจนชินตา ซึ่งเหตุผลหลักที่ใช้สีขาว-ดำเพราะนำไปต่อยอดพัฒนาการให้เหมาะสมกับการถ่ายทอดสดในยุคสมัยนั้นที่มีการถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรก

Telstar นับว่าเป็นลูกฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจาก World Cup ปี 1974 ที่ประเทศ West Germany ยังใช้ลูกฟุตบอลชนิดนี้อยู่ โดยปรับเปลี่ยนเพิ่มการหุ้มหนังด้วยขั้นตอน Durlast เพื่อป้องกันน้ำจีงเป็นที่มาของรุ่น “Telstar Durlast

หลังจากวันนั้น FIFA กับ Adidas ก็ได้จับมือกันผูกขาดการผลิตลูกฟุตบอลใน World Cup จวบจนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นแบรนด์ Adidas ถือว่าเป็นเจ้าพ่อแห่ง FIFA World Cup balls อย่างแท้จริง

พูดถึงการแข่งขันในปี 1970 กับ 1974 กันบ้าง โดยใน World Cup 1970 ทีมชาติ Brazil สามารถคว้าแชมป์ไปครองได้ด้วยการเอาชนะ Italy ไปขาดลอย 4-1 และหนึ่งในผู้ทำประตูในวันนั้นก็คือตำนานในวันนี้อย่าง Pele

ส่วนใน World Cup 1974 เจ้าภาพอย่าง West Germany คว้าแชมป์ไปครองด้วยการคว่ำ Netherlands ได้ในนัดชิงชนะเลิศ 2-1 จากการทำประตูของ Paul Breitner และ Gerd Müller

ปี 1978 – ลูกฟุตบอล Tango (Host – Argentina)

“Tango” คือลูกฟุตบอลประจำการแข่งขัน World Cup 1978 โดยถูกออกแบบให้เข้ากับแนวคิดของการเต้นในจังหวะแทงโก้ (ท่าเต้นพื้นเมืองของประเทศ Argentina)

เจ้าลูกฟุตบอลลูกนี้ยังคงใช้หนังห้าเหลี่ยมและหกเหลี่ยมเช่นเดิมแต่ปูพื้นด้วยสีขาวทั้งหมด แล้วค่อยบรรจงพิมพ์ลวดลายลงไปใหม่ซึ่งเป็นลักษณะของวงกลมสวยงาม เรียกได้ว่าเข้าสู่ยุคการออกแบบลูกฟุตบอลให้สวยงามตามศิลปวัฒนธรรมของเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

Tango ถือว่าเป็นลูกฟุตบอลลูกหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่เป็นรอง Telstar แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วทาง Adidas มีการออกแบบลูกฟุตบอลเผื่อไว้อีกลูกหนึ่ง กรณที่ Tango ไม่ได้รับความนิยม แต่ผลกลับพลิกโผเป็นอย่างมากเนื่องจาก Tango ได้รับความนิยมและถือว่าเป็นต้นแบบของลูกฟุตบอลที่ใช้ในศึก World Cup ครั้งต่อๆมา

World Cup 1978 เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ประเทศเจ้าภาพประสบความสำเร็จสูงสุดก้าวขึ้นไปถึงแชมป์นั่นก็คือทีมชาติ Argentina ด้วยการเอาชนะ Netherlands ไป 3-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษด้วยการยิงของ Mario Kempes และ Daniel Bertoni และทีมที่น่าสงสารที่สุดก็คือ Netherlands เพราะแพ้ในนัดชิงชนะเลิศสองครั้งติดต่อกัน

ปี 1982 – ลูกฟุตบอล Tango Espana (Host – Spain)

ถึงแม้ลวดลายจะคล้ายคลึงกับ 4 ปีที่แล้วอย่างมาก แต่ Spain ประเทศเจ้าภาพอ้างอิงว่าลวดลายมีความสวยงามแตกต่างกันสำหรับ “Tango Espana” แต่คุณภาพของหนังหุ้มถือว่ายอดเยี่ยมกว่าเดิมมากและยังใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อให้ลูกฟุตบอลไม่ดูดซึมน้ำเป็นครั้งแรกอีกด้วย

สำหรับการแข่งขันในครั้งนั้นประเทศ Italy สามารถกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งหลังเอาชนะ West Germany ในรอบชิงชนะเลิศไป 3-1 จากการทำประตูของ Paolo Rossi, Marco Tardelli และ Alessandro Altobelli

ปี 1986 – ลูกฟุตบอล Azteca (Host – Mexico)

“Azteca” เป็นลูกฟุตบอลที่ประเทศเจ้าภาพอย่าง Mexico ภูมิใจนำเสนอ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการออกแบบลูกฟุตบอลแบบเฉพาะก็ว่าได้ ลวดลายของ Azteca ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชนเผ่า Aztec

ความเปลี่ยนแปลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ เพียงแต่ใช้หนังสังเคราะห์แทนในครั้งนี้ และมีการพิมพ์ลวดลายแบบชนเผ่าพื้นเมือง Aztec ลงบนลูกบอลสะท้อนถึงความเป็นพื้นเมืองของประเทศ Mexico ได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังเป็นการทดลองใช้เทคโนโลยีหนังเทียมเป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถคืนทรงได้รวดเร็วกว่าหนังแท้รวมถึงคุณภาพการกันน้ำที่สูงกว่า ทำให้ Azteca เป็นจุดจบของลูกฟุตบอลหนังแท้ไปตลอดกาล

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ใน World Cup 1986 ก็คือ “Hand of God” ของตำนานผู้ล่วงลับอย่าง Diego Maradona ที่ปัดลูกบอลเข้าประตูใส่ทีมชาติ England ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งจังหวะนี้ยังคงถูกพูดถึงในเหล่าแฟนบอลรุ่นลูกรุ่นหลานทุกวันนี้

แชมป์ในครั้งนั้นก็คือทีมชาติ Argentina ที่เอาชนะ West Germay ไปได้ 3-1 จากการทำประตูของ José Luis Brown, Jorge Valdano และ Jorge Burruchaga

ปี 1990 – ลูกฟุตบอล Etrusco Unico (Host – Italy)

Italy ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหนที่สองมาพร้อมกับการออกแบบที่โฉบเฉี่ยวขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก ส่วนการปฏิวัติวงการครั้งสำคัญในหนนี้ก็คือการผสมโพลียูริเทน (Polyurethane) เข้าไปในการผลิตเพื่อจะกันน้ำได้ 100% และนี่ก็คือ “Etrusco Unico”

นัดชิงชนะเลิศ World Cup 1990 เป็นการโคจรมาพบกันของ West Germany กับ Argentina ซึ่งทัพฟ้า-ขาวมีลุ้นคว้าแชมป์สองสมัยติดต่อกัน แต่พวกเขาก็ต้องอกหักเมื่อ Andreas Brehme ซัดจุดโทษเป็นประตูชัยให้ West Germany เอาชนะไปได้ 1-0 และคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ

หลังจากเข้าสู่ยุค 90 แล้วเท่ากับเริ่มเข้าสู่ World Cup ในยุคใหม่ เรามาติดตามชมกันต่อในบทความหน้านะครับ

บทความที่น่าสนใจ : https://www.thekooroo.com/content/

Leave a Reply