กติกาฟุตบอล… จากวันนั้นถึงวันนี้ ปี 2021

ถ้าหากพูดถึงกีฬาอันดับหนึ่งของโลกและครองใจเหล่าผู้คนมาอย่างยาวนาน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเป็น “ฟุตบอล” โดยไม่ว่าเราจะเดินผ่านไปทางไหน ก็จะเห็นเด็กๆ เตะตามริมฟุตบาทที่เต็มไปด้วยฝุ่นทรายคลุ้ง วัยรุ่นที่ไปเตะฟุตบอลออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย 40-50 อัพก็จะนัดดวลแข้งกันตามสนามเช่า แต่ไม่ว่าคุณจะเตะฟุตบอลจากที่มุมใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นกระชับมิตร (Friendly Match) หรือแมทซ์สำคัญ (Ranking Match) สิ่งหนึ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติเหมือนกันนั่นคือ กติกา (The Rules of Football)

กติกาฟุตบอล

กติกาสากลยุคดั้งเดิม

กติกาจะมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา โดยแต่ละปีคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (International Football Association Board : IFAB) จะนำข้อดี-ข้อเสียจากปีที่ผ่านมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนากติกาฟุตบอลให้ดียิ่งขึ้นไป ซึ่งถ้าพูดถึงกติกาตามหลักสากลมีทั้งหมด 17 ข้อ แต่ในบทความนี้แอดมินขอนำเสนอข้อหลักๆให้ได้รู้เบื้องต้นกันก่อน

1.) สนามฟุตบอล (Football Field)

สนามฟุตบอลต้องเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความกว้างต่ำสุด 50 หลา สูงสุด 100 หลา ส่วนความยาวต่ำสุดจะต้อง 100 หลา สูงสุด 130 หลา โดยเครื่องหมายในสนามในแต่ละเส้นจะมีความกว้างไม่เกิน 5 นิ้ว ไม่ว่าจะเป็น

  • เส้นเขตสนาม
  • เส้นแบ่งเขตแดน โดยแบ่งสนามตามขวางเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน
  • จุดกึ่งกลางสนาม อยู่กึ่งกลางเส้นแบ่งเขตแดน มีวงกลมรัศมี 10 หลาล้อมรอบจุดไว้
  • เส้นประตู
  • เขตประตู คือพื้นที่ที่เกิดจากการลากเส้นจากเสาประตูทั้ง 2 ฝั่งตั้งฉากกับเส้นประตูเข้าหาสนามยาว 6 หลา
  • เขตโทษ ระยะทางจากประตูยาว 16.5 เมตร (18 หลา)
  • จุดโทษ จะอยู่อยู่ในเขตโทษ ห่างจากเสาประตู 12 หลา มีการเขียนส่วนโค้งนอกเขตโทษ รัศมีห่างจากจุดโทษ 10 หลา
  • ประตู มีสีขาว ระยะห่างระหว่างเสาประตู 8 หลา คานสูงจากพื้น 8 ฟุต
  • มุมธง อยู่ทั้ง 4 มุมของสนาม รัศมี 1 หลา

2.) ลูกฟุตบอล (Ball)

ต้องเป็นทรงกลม ทำจากหนัง หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีความยืดหยุ่นตามความเหมาะสม โดยจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้เล่น ขนาดเรียกว่า “ฟุตบอลเบอร์ 5” มีเส้นรอบวงประมาณ 68-70 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 410-450 กรัม และถ้าระหว่างการแข่งขัน ลูกฟุตบอลไม่ได้มาตรฐานจะสามารถเปลี่ยนได้ทันที โดยผู้ตัดสินในสนามจะเป็นผู้พิจารณา

3.) จำนวนผู้เล่น (Number of Players)

ที่มา : https://www.juvefc.com/

จำนวนผู้เล่นแต่ละทีมลงสนามได้สูงสุด 11 คน (รวมผู้รักษาประตู) แต่ละทีมประกอบด้วยผู้เล่นตัวจริงและตัวสำรอง ผู้เล่นตัวจริงจะเป็นผู้เล่นชุดแรกที่ลงสนาม ส่วนผู้เล่นตัวสำรองมีไว้เพื่อสับเปลี่ยนกับผู้เล่นตัวจริงในกรณีที่ผู้เล่นตัวจริงไม่สามารถเล่นได้หรือกรณีอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

โดยการแข่งขันในหลักสากลจะเปลี่ยนได้ 3 คนเท่านั้น และเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association : FIFA) มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนตัวสำรองคนที่ 4 ได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษ แต่ถ้าเป็นการแข่งขันนัดกระชับมิตร หรือเฉลิมฉลองสร้างความสัมพันธ์จะมีการเปลี่ยนตัวได้ไม่จำกัด

4.) อุปกรณ์การเล่น (Equipment)

ลูกฟุตบอลใช้สำหรับเล่น 1 ลูก และ ทั้งสองทีมที่ลงแข่งขัน ผู้เล่นทุกคนในทีมยกเว้นผู้รักษาประตูจะต้องใส่ชุดแข่งขันสีเดียวกัน และทั้งสองทีมจะต้องใส่ชุดแข่งที่มีสีตัดกันอย่างชัดเจน ส่วนผู้รักษาประตูจะต้องใส่ชุดแข่งที่มีสีไม่ซ้ำกับผู้เล่นทั้งสองทีม และนักกีฬาที่ทำการแข่งขันจะต้องใส่รองเท้า (ในปัจจุบันไม่อนุญาตให้นักกีฬาใช้เท้าเปล่าในการเล่น)

5.) ผู้ตัดสิน (Referee)

ผู้ชี้ขาดของการแข่งขันแต่ละนัดนั่นก็คือ ผู้ตัดสิน ซึ่งหน้าที่หลักๆมีดังนี้

  • ปฏิบัติตามกติกาข้อควบคุมการแข่งขันโดยมีผู้ช่วยผู้ตัดสิน และผู้ตัดสินคนที่ 4 คอยให้ความร่วมมือช่วยเหลือตามความเหมาะสม
  • ทำหน้าที่ควบคุมเวลาการแข่งขัน และเขียนรายงานหลังจากจบการแข่งขัน
  • เขียนรายงานการแข่งขันเสนอต่อผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ที่ได้แต่งตั้งไว้ ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการควบคุมระเบียบทุกอย่างที่กระทำต่อผู้เล่น และเจ้าหน้าที่ทีมและเหตุการณ์อื่น ๆ ทุกกรณีที่เกิดขึ้นก่อนการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน และภายหลังการแข่งขัน
  • พิจารณาสั่งหยุดการเล่นถาวร, ชั่วคราว หรือยุติการแข่งขัน (Suspends or Terminate the Match) ทุกกรณีของการกระทำผิดกติกาการแข่งขัน
  • ควบคุมระเบียบวินัยโดยแสดงการต่อต้านต่อผู้เล่นที่กระทำผิดต้องได้รับการคาดโทษ และการให้ออกจากการแข่งขัน (ใบเหลืองเป็นการตักเตือน และถ้าใบแดงคือต้องออกจากการแข่งขัน)
  • ผู้ตัดสินจะมีสิทธิ์ให้ใบเหลืองหรือใบแดงตามความเหมาะสมต่อเมื่อผู้เล่นทำผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามรุนแรง หรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ตัดสิน
  • ปฏิบัติตามการช่วยเหลือของผู้ช่วยผู้ตัดสินตามเหตุการณ์ที่ตนเองมองไม่เห็น
  • แน่ใจว่าไม่มีบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในสนามแข่งขัน

6.) ระยะเวลาการแข่งขัน (Race Time)

ช่วงเวลาของการแข่งขัน (Periods of Play) แบ่งออกเป็นสองครึ่ง ครึ่งละ 45 นาทีเท่ากัน และในแต่ละครึ่งจะมีการทดเวลาบาดเจ็บ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตัดสิน

7.) การเริ่มต้นการแข่งขัน (Kick Off)

เมื่อเริ่มเล่น ผู้ตัดสินจะเสี่ยงเหรียญ (โยนหัว-ก้อย) เพื่อให้กัปตันทีมของทั้งสองทีม เป็นคนเลือกว่า จะเลือกแดนหรือเลือกเตะเริ่มเล่นก่อน ให้ตัดสินโดยฝ่ายที่ชนะการเสี่ยงเป็นผู้มีสิทธิ์ในการเลือกแดนหรือเลือกเตะ

เมื่อหมดครึ่งแรก การ Kick Off ในครึ่งหลัง จะให้เปลี่ยนแดนและให้ผู้เล่นคนหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ได้เตะเริ่มเล่นในครึ่งแรก เป็นผู้เตะเริ่มเกม

8.) การล้ำหน้า (Offside)

ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า (Offside) ถ้าเขาอยู่ใกล้เส้นประตูของคู่ต่อสู้กว่าลูกบอล แต่ผู้เล่นจะยังไม่ถูกตัดสินว่าล้ำหน้า ถ้าหากว่า….

  • เขาเพียงแต่อยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าเท่านั้น โดยที่ไม่มีเจตนาเล่นลูกฟุตบอล
  • เขาได้รับลูกโดยตรงจากการเตะออกมาจากประตู การทุ่มจากเส้นข้าง การเตะจากมุม หรือ การปล่อยลูกบอลจากมือผู้ตัดสิน

9.) การทำฟาวล์ (Foul)

หากผู้เล่นคนใดเจตนากระทำผิดข้อหนึ่งข้อใดใน 9 ข้อ ดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นการฟาวล์ (Foul) หรือ การทำผิดกติกาทั้งหมด

  • พยายามจะเตะคู่ต่อสู้ เพื่อให้เสียจังหวะในการเล่น
  • ขัดขาคู่ต่อสู้ คือพยายามจะทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงด้วยการใช้ขา หรือด้วยการหมอบลงข้างหน้า-หลัง
  • กระโดดเข้าหาคู่ต่อสู้โดยที่ไม่มีการควบคุมจังหวะของตัวเอง
  • เข้าชนคู่ต่อสู้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะชนคู่ต่อสู้ข้างหลัง ถือว่าเป็นการฟาวล์ในทุกกรณี นอกจากคู่ต่อสู้นั้นเจตนากีดกัน
  • พยายามจะทำร้ายคู่ต่อสู้ หรือถ่มน้ำลายรดคู่ต่อสู้
  • ฉุดดึงหรือผลักดันคู่ต่อสู้ เพื่อให้เสียจังหวะในการเล่น
  • เล่นด้วยมือ คือ ทุบ ต่อย ปัด เตะลูกด้วยมือหรือแขน

10.) การทุ่ม (Throw-in)

ที่มา : https://www.theversed.com/

ขณะการแข่งขัน ถ้าลูกฟุตบอลได้ออกเส้นข้างไปทั้งลูก ไม่ว่าจะกลิ้งไปบนพื้นสนามหรือลอยไปบนอากาศก็ตาม ให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายได้ทุ่ม โดยกำหนดลักษณะในการทุ่มไว้ดังนี้

  • เท้าทั้งสองข้างต้องติดพื้นตลอดเวลาการทุ่ม
  • ต้องทุ่มด้วยมือทั้งสอง ลูกบอลออกจากด้านหลังศีรษะ แขนทั้งสองข้างตึงและต้องผ่านศีรษะไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
  • ด้านหน้าของร่างกายหันหน้าเข้าหาสนามด้านใด ให้ทุ่มไปทางนั้น
  • สามารถย่อทุ่มได้ แต่ห้ามนั่งทุ่ม
  • บอลออกเส้นข้าง ณ จุดใด ให้ทุ่ม ณ จุดนั้น
  • ณ จุดที่มือปล่อยบอล เท้าหรือตัวของผู้ทุ่ม ห้ามห่างจากเส้นข้างเกินหนึ่งเมตร
  • ฝ่ายรับต้องยืนห่างจากผู้ทุ่ม ในสนามแข่งขันอย่างน้อยสองเมตร
  • ถ้าลูกฟุตบอลที่เกิดจากการทุ่มทีเดียว โดยไม่สัมผัสผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย จะไม่ถือว่าเป็นประตู
  • ผู้เล่นฝ่ายเดียวกันสามารถรับบอลจากการทุ่มได้ ไม่ถือว่าเป็นการล้ำหน้า
  • ทุ่มบอลคืนให้ผู้รักษาประตู ห้ามใช้มือรับ ถ้าฝ่าฝืนให้เตะลูกโทษโดยอ้อม ณ จุดเกิดเหตุทันที

แล้วถึงปี 2021 กติกาฟุตบอลมีอะไรเปลี่ยนแปลง?

จำนวนผู้เล่นตัวสำรอง และการเปลี่ยนตัว

ในลีกใหญ่ๆ อย่างเช่น พรีเมียร์ลีกอังกฤษ สามารถเปลี่ยนผู้เล่นสำรองได้แมทซ์ละ 3 คน และใส่รายชื่อตัวสำรองมาได้ 7 คน แต่ในลีกอย่างบุนเดสลีกาเยอรมัน หรือ ลาลีกาสเปน สามารถเปลี่ยนผู้เล่นสำรองได้ถึงแมทซ์ละ 5 คน และใส่รายชื่อตัวสำรองมาได้สูงสุด 12 คน ขึ้นอยู่กับสมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศพิจารณาได้เลยว่า กติกาที่กำหนดขึ้นในบางข้อเข้ากับรูปแบบการแข่งขันในประเทศนั้นๆหรือไม่

– ลักษณะการเดินออกเวลาเปลี่ยนตัวผู้เล่น

กติกาฟุตบอลฉบับอัพเดทกำหนดไว้เลยว่า ถ้ามีการเปลี่ยนตัว ผู้เล่นที่จะถูกเปลี่ยนตัวออก สามารถเดินออกจากส่วนมุมใดในสนามได้เลย ไม่จำเป็นต้องวิ่งมาสัมผัสมือกับเพื่อนที่จะเปลี่ยนลงมา ซึ่งกติกาข้อนี้ช่วยป้องกันการถ่วงเวลาของผู้เล่นของทีมที่มีประตูนำอยู่

การใช้ VAR (Video Assistant Referee)

ในปัจจุบันผู้ตัดสินในเกมฟุตบอล นอกจากจะมีสายตาจากผู้ช่วยผู้ตัดสินเป็นตัวช่วยแล้ว ยังมีระบบ Video Assistant Referees หรือที่หลายๆคนรู้จักกันในชื่อ VAR มาช่วยอีกด้วย หลังจากก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงกันอยู่มากมายถึงการทำให้อรรถรสของเกมฟุตบอลเสียไป แต่หลังจากนำมาใช้จริงแล้ว ปรากฏว่า VAR ทำให้กติกามีความเสถียรมากยิ่งขึ้น เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในผืนสนาม ตั้งอยู่ในพื้นฐานของความเป็นจริง แต่ก็อีกนั่นแหละครับ เรื่องงบประมาณคือปัจจัยหลักที่ทำให้ในบางประเทศไม่สามารถใช้ระบบ VAR ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งแมทซ์เฉียด 100,000 บาทกันเลยทีเดียว

แล้วในปี 2021 มีกติกาข้อใดเพิ่มขึ้นมาบ้าง?

– การใช้มือเป็นส่วนร่วมในการได้ประตู

เป็นที่ถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับกติกาในข้อ “การใช้มือมีส่วนร่วมทำให้ได้ประตู (Handball)” โดย IFAB ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในปัจจุบันไว้เลยว่า ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ถ้าการทำประตูที่เกิดขึ้นมีการใช้มือของผู้เล่นทีมบุกเป็นส่วนร่วม จะไม่ได้ประตู

– ผู้จัดการทีมก็มีโอกาสโดนใบแดง!!

อ่านไม่ผิดครับ กติกาได้กำหนดออกมาแล้วว่า หากมีผู้จัดการทีม หรือสต๊าฟโค้ชทีมใด ทำท่าเกรี้ยวกราดเกินเหตุ และแสดงกิริยาที่ไม่สุภาพต่อคำตัดสิน ผู้ตัดสินสามารถแจกใบเหลือง-ใบแดงได้เหมือนกับผู้เล่นในสนาม จะไม่ใช่แค่การเชิญออกไปนั่งดูลูกทีมบนอัฒจันทร์เหมือนกติกาสมัยก่อนอีกต่อไป

– ห้ามผู้เล่นทีมบุกยืนในกำแพง

หากคนดูกีฬาฟุตบอลคงรู้จักลูกฟรีคิก นั่นคือการที่ทีมบุกจะได้เล่นลูกโยนหรือยิงใส่ทีมรับ ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถตั้งกำแพงได้ โดยอยู่ห่างจากลูกฟุตบอล 10 หลา ซึ่งภาพที่เราเห็นคือ ผู้เล่นทั้งสองฝั่งจะเข้าไปเบียดเสียดกันในกำแพง เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับทีมของตัวเอง แต่ ณ ตอนนี้ทำไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากกติกาแบบใหม่กำหนดไว้ว่า ห้ามมีผู้เล่นทีมบุกไปยืนแทรกอยู่ในกำแพง ถ้ายังผิดกฏ ผู้ตัดสินสามารถตักเตือน หรือให้ใบเหลืองแก่ผู้เล่นคนนั้นได้เลย

นี่คือภาพรวมทั้งหมดของกติกาที่ทาง TheKooRoo นำมาเสนอให้เพื่อนๆได้รับทราบกัน เพื่อจะได้ดูฟุตบอลได้อย่างเพลิดเพลินและมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น แต่อย่างที่บอกไปในตอนต้นครับว่า ในแต่ละปีก็จะมีการปรับปรุงและพัฒนากติกาให้หมุนไปตามการเป็นไปของโลก อย่างไรก็ตามเพื่อนๆก็คอยเข้ามาอัพเดทกับทาง TheKooRoo ได้ตลอดเวลาเลยนะครับ แล้วรอชมว่าครั้งหน้าเราจะนำเสนอเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับวงการกีฬา

ขอบคุณข้อมูล : https://www.mainstand.co.th/

บทความที่น่าสนใจ : https://www.thekooroo.com/content/

Leave a Reply