ฟุตบอลไทย กับคำว่าติเพื่อก่อ….แล้วเกิดอะไร?!?!

“We are Ultras Thailand!!! We are Ultras Thailand!!!” เสียงตะโกนโหวกเหวกของกลุ่ม Ultras Thailand ยังคงดังกึกก้องอยู่ในหูของแอดมินที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสไปเชียร์ทีมชาติไทยที่ขอบสนามของการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย (FIFA World Cup qualification – AFC) ที่ทีมชาติไทยเอาชนะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไป 2-1 เมื่อสองปีที่แล้ว ยังจำได้มิลืมเลือนมันเป็นบรรยากาศที่น่าจดจำเป็นที่สุด และนี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในเหตุการณ์ย่อยๆที่ตัวแอดมินได้สัมผัสกับวงการฟุตบอลไทย

จากวันที่บอลไทยเป็นเพียงแค่ความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง

หลายคนคงเคยได้ยินและหัวเราะกันอย่างขำขันว่า “ไปดูไทยลีกกันดีกว่า วันนี้ตลกคณะโน๊ต เชิญยิ้มมา” เพื่อนๆอ่านแล้วคงตกใจและฉงนว่าตลกเกี่ยวอะไรกับบอลไทย? เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆคนใดอายุ 30 อัพจะเข้าใจเป็นอย่างดี เวลาฟุตบอลเตะ ช่วงพักครึ่งเวลาจะมีตลกหลากหลายคณะ ดังบ้างไม่ดังบ้าง มาสับเปลี่ยนหมุนเวียนสร้างสีสันในสนามโดยการเปลี่ยนสนามฟุตบอลเป็นเวทีตลกยังไงยังงั้น บางนัดผู้สนับสนุนใจดีหน่อยก็แจกรถมอเตอร์ไซด์ก็ยังมี แค่ฟังดูก็เห็นถึงความบันเถิดบันเทิงแล้วใช่มั้ยล่ะครับ!!

ยิ่งไม่ต้องนับระบบการแข่งขันแบบเหย้า-เยือน หรือพูดง่ายๆ ทุกสโมสรในไทยต้องมีสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานเป็นของตนเอง สมัยนั้นแอดมินจ่ายค่าตั๋ว 50 บาทหน้าสนามศุภชลาศัย (สนามกีฬาแห่งชาติในสมัยนั้น ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสนามราชมังคลากีฬาสถาน) ได้ดูฟุตบอลแข่งกันสองคู่รวดตั้งแต่สี่โมงเย็นยันสองทุ่ม

ย้อนกลับไปเมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้ว ฟุตบอลไทยยังเป็นแค่คำว่า “ฟุตบอลกึ่งอาชีพ” พูดง่ายๆคือ เตะบอลยังไม่สามารถเป็นรายได้หลัก อย่าว่าแต่ครอบครัวเลย เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเราเองเหนื่อยสายตัวแทบขาด มันจริงอยู่ที่กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมอย่างมากในบ้านเราและเด็กๆหลายคนใฝ่ฝันที่อยากจะติดทีมชาติเพื่อเป็นเกียรติยศประจำตระกูล แต่คุณพ่อ-แม่หลายครอบครัวไม่สนับสนุน เพราะอะไรนั่นเหรอครับ???

เหตุผลเป็นอย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรกนั่นเอง การต้องเสียเงินเย็บรองเท้าสตั๊ดเอง, การซื้อข้าวกลางวันกินเองเวลาซ้อม หรือแม้กระทั่งซักถุงเท้าที่ตัวเองแข่ง ฟังดูเป็นเรื่องแปลก….แต่มันจริง เพราะระบบการจัดการของบ้านเรายังไม่ดีพอในหลายๆด้าน เอาไว้บทความหน้าๆ ถ้ามีโอกาสแอดมินจะมาเล่าเรื่อง “ฟุตบอลไทยลีก” ให้ฟังอีกครั้งนึง

คำถาม….บอลไทยในยุคนั้นเก่งขนาดไหน?

แปลกแต่จริงอีกครั้งครับ ฟุตบอลไทยยุค 20 ปีที่แล้วหรือย้อนไปมากกว่านั้นค่อนข้างประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กิตติศัพท์ของขุนพลช้างศึกก็ไม่เคยจางหายไปจากวงการฟุตบอล

1.) เข้าแข่งขันอย่างโอลิมปิก 2 ครั้งในปี 1956 กับ 1968

ถึงแม้ทีมชาติไทยจะแพ้รวดทุกนัดที่ลงแข่งขันใน Olympic Games 1956 และ 1968 ทัวร์นาเม้นท์กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่นักกีฬาใฝ่ฝันจะได้ไปสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต และหนึ่งประตูของ “เจ้าเป๊ปซี่” อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ในนัดที่แพ้กัวเตมาลา 1-4 ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ นักเตะชุดนั้นยังก้าวขึ้นมาเป็นปรมาจารย์ลูกหนังของเมืองไทยในทุกวันนี้ อย่างเช่น ชัชชัย พหลแพทย์, นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ และ เกรียงศักดิ์ นุกูลสมปรารถนา

2.) คว้าอันดับ 3 ฟุตบอล Asian Cup ในปี 1972

Asian Cup เป็นทัวร์นาเม้นท์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย เทียบเท่าฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (UEFA European Football Championship) กันเลยทีเดียว โดยในปี 1972 ขุนพลช้างศึกของเราทำได้ดีมาก เป็นรองเพียงแค่อิหร่านกับเกาหลีใต้เท่านั้น

3.) เข้ารอบรองชนะเลิศ Asian Game ถึง 3 ครั้ง

ทั้งสามครั้งได้แก่ที่ประเทศจีน, เกาหลีใต้ และที่แฟนฟุตบอลชาวไทยจดจำได้ไม่ลืมก็คือ ในปี 1998 ที่เราเป็นเจ้าภาพ โดยลูกยิงฟรีคิกผีจับยัดของธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ที่เจอกับเกาหลีใต้ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ยังคงติดตาตรึงใจเหล่าแฟนบอลชาวไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้

ทีมชุดนั้นเป็นการผสมผสานที่ลงตัวทุกตำแหน่งนำโดยกองหน้าจอมตีลังกาอย่าง “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, กองกลางจอมเทคนิคอย่าง “เจ้าญา” ธชตวัน ศรีปาน และตัวยิงไกลอย่าง “เจ้าวัง” ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล, กองหลังดาราเอเชียอย่าง “เจ้าโอ่ง” ดุสิต เฉลิมแสน และผู้รักษาประตูจอมหนึบอย่างชัยยง ขำเปี่ยม

เหตุที่เกริ่นถึงทีมชุดนี้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากเกือบสานฝันคนไทยยุคทวดให้เป็นจริง คือ การได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2002 เพราะ เข้าสู่รอบ 10 ทีมสุดท้าย และ 4 ใน 10 จะได้ไปเล่นฟุตบอลโลกที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพร่วมในครั้งนั้น แต่ด้วยทีมร่วมกลุ่มที่แข็งโป๊กอย่างซาอุดิอาระเบีย, อิหร่าน, บาห์เรน และอิรัก ขุนพลทีมชาติไทยเราเก็บได้ 4 คะแนนจากการเสมอ 4 แพ้ 4 ทำให้ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย

4.) สองผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้ไปค้าแข้งต่างแดนในอดีต

คนแรกที่ต้องกล่าวถึงคือ “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล ได้ย้ายไปเล่นให้กับสโมสรในเยอรมันคือ Hertha BSC และ FC Saarbrücken เป็นเวลารวมหกปีได้รับคำยกย่องจากสื่อในเยอรมันว่า “ไทย บูม” (THAI BOOM) โดยทำประตูไปได้ทั้งหมด 8 ประตู

คนที่สองแฟนบอลชาวไทยรู้จักเป็นอย่างดี “เดอะตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เจ้าของฉายา “เพชรฆาตหน้าหยก” เคยไปค้าแข้งกับสโมสร Lucky-Goldstar FC ใน K-League ของเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันคือ “FC Seoul” เป็นเวลา 2 ปี และสามารถพาทีมคว้าแชมป์ลีก เมื่อปี 1985 พร้อมครองตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดประจำฤดูกาลไปครองด้วยการซัลโวไป 12 ประตู

ความฝันที่ดับลง (อีกครั้ง) ใน World Cup 2022

คงไม่ต้องเขย่าฝาขวดกันมากมายนักสำหรับฟอร์มการเล่นของทีมฟุตบอลไทยทีมชาติไทย ที่ล่าสุดตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2022 (World Cup 2022) โดยเมื่อสมาคมได้ปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีบทสรุปความล้มเหลวครั้งนี้ว่า…..

  • การพบติดเชื้อในแคมป์ ทำให้ต้องยุติการซ้อมในสนาม 14 วัน และแยกกักตัว

จากกำหนดการเดิมที่สมาคมฟุตบอลวางไว้ คือ ช่วงปลายเดือนเมษายนจะเข้าแคมป์เก็บตัวเตรียมทีมชาติในในรอบแรก และในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจะต้องเข้าแคมป์รอบสอง ซึ่งหากเป็นไปตามแผนการเก็บตัวที่วางไว้แล้ว ทีมชาติไทยจะมีการเตรียมทีมถึงหนึ่งเดือนเต็ม ซึ่งเพียงพอต่อการทำความเข้าใจแผนการของผู้จัดการทีม

แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อทีมงานได้รับทราบข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่และนักฟุตบอลมีผลตรวจพบเชื้อโควิด และต้องส่งเข้ารับการรักษาตัวทันทีตามคำแนะนำของแพทย์ และเพื่อให้ทีมชาติไทยยังสามารถเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศได้ จึงต้องงดกิจกรรมการฝึกซ้อมในสนาม และแยกกักตัวให้ครบ 14 วัน ซึ่งทำให้แผนการทั้งหมดที่วางไว้ตอนแรกที่เตรียมไว้ให้สำหรับนักฟุตบอลเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายไม่เกิดขึ้น

  • ไม่สามารถฝึกซ้อมได้เลยในประเทศจนถึงวันเดินทาง

เมื่อไม่สามารถทำการฝึกซ้อมได้แล้ว ผู้จัดการทีมจึงเห็นว่า ไม่สามารถตัดสินใจคัดเลือกนักฟุตบอลที่พร้อมที่สุดไปได้ เพราะไม่ได้เห็นการฝึกซ้อมร่วมกันเลย และไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบสมรรถภาพความฟิตอีกด้วย ถ้าหากมาพบอาการบาดเจ็บภายหลังจะยิ่งทำให้เป็นปัญหากับทีมเสียด้วย จึงให้พานักฟุตบอลทั้งหมดไปฝึกซ้อมที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates – UAE) กันทุกคน

  • การฝึกซ้อม

หลังจากที่ทางทีมงานตัดสินใจนำนักฟุตบอลไปทั้งหมดนั้น มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน ข้อดีคือ เมื่อพบปัญหาความฟิต หรืออาการบาดเจ็บ จะมีตัวเลือกนักฟุตบอลที่สามารถทดแทนตำแหน่งต่อตำแหน่งได้เลย แต่ข้อเสียที่เป็นปัญหาหลักคือ ไม่สามารถจำกัดกลุ่มนักฟุตบอลตัวหลักของทีมได้อย่างชัดเจนสำหรับรูปแบบการฝึกซ้อมและลงรายละเอียดในเรื่องแผนการเล่น (Football Tactics) และไม่สามารถสร้างความเข้าใจในแผนการเล่นได้อย่างสม่ำเสมอ โดยจะแตกต่างจากทีมอื่นๆ ที่สามารถโฟกัสนักกีฬาที่คัดเลือกมาในจำนวนจำกัด รวมถึงทีมงานสตาฟฟ์โค้ชก็ต้องแบ่งยิบย่อยเพื่อเตรียมแผนการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาทุกๆ คนในทุกวันที่เดินทางไปสนามซ้อม

  • ปัญหาการสื่อสาร

เรื่องของการสื่อสารต่างๆ ภายในทีมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งในการลงรายละเอียดฝึกซ้อม และในระหว่างแข่งขันเป็นเรื่องที่สมาคมฟุตบอลให้ความสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการสื่อสาร เมื่อล่ามแปลภาษาคนเดิมได้ลาออกไป ฝ่ายประสานงานทีมชาติได้แจ้ง อากิระ นิชิโนะ (Akira Nishino) หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยให้สรรหาและสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกล่ามส่วนตัว โดยทางหัวหน้าผู้ฝึกสอนได้ทำการพูดคุยกับล่ามคนไทยที่สมาคมฟุตบอลนำเสนอ ส่วนอีกหนึ่งคน นิชิโนะได้หามาเอง โดยตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันจากการที่เคยเป็นผู้หาที่พักให้กับตัวเขาในประเทศไทย และสามารถพูดได้สองภาษา

แม้ว่าทางฝ่ายประสานงานทีมชาติและสมาคมฯ ได้ทัดทานแล้วว่าผู้ที่จะทำหน้าที่นี้นอกจากจะเข้าใจในทั้งภาษาไทยและญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้แล้ว จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ไหวพริบ และสามารถสื่อสารด้านศัพท์เทคนิคให้นักฟุตบอลเข้าใจได้ แต่ทางผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่นและผู้ประสานงานยังยืนยันว่าจะขอเลือก เมื่อเป็นความต้องการและการตัดสินใจของผู้ฝึกสอนแล้ว ทางสมาคมฟุตบอลจึงต้องจำยอม

ที่มา : https://www.goal.com/th

ซึ่งเมื่อเริ่มทำหน้าที่ไปแล้ว ปรากฏว่าเกิดปัญหาอย่างที่คิดกันไว้ คือตัวล่ามไม่สามารถสื่อสารกับนักเตะและทีมงานในทีมได้ดีเพียงพอ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ด้านฟุตบอลมาก่อน นี่ก็เป็นสาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความล้มเหลวของทีมชาติไทย ล่าสุดทางสมาคมฟุตบอลได้ทำการยกเลิกสัญญาของผู้ประสานงานและล่ามเรียบร้อยแล้ว

การต่อยอดที่ไม่ผลิดอก และ ความศรัทธาที่เสื่อมถอย

วลีเด็ดของแฟนบอลไทยที่เพื่อนๆต้องเคยได้ยินว่า “ยังไงก็เชียร์กันต่อไปทีมชาติไทย” มันจะกลายเป็นเพียงแค่เพียงคำปลอบใจลมๆแล้งๆ ถ้าเราไม่ไปแก้ไขตั้งแต่รากเหง้าของปัญหา แล้วหลายคนถาม….ปัญหามันคืออะไรล่ะ???

แอดมินขออนุญาตรวบรวมความคิดเห็นและมุมมองต่างๆ จากบุคคลรอบตัวมาเล่าสู่กันฟัง ขอเน้นย้ำว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เพื่อนๆมีความคิดเห็นอย่างไรก็คอมเม้นท์เข้ามาพูดคุยกันได้เลย

1.) การบริหารงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การบริหารงานของสมาคมเป็นปัญหาหลัก และมิใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เพียงไม่มีคณะทำงานชุดไหนอยากจะเข้ามาแก้ไขอย่างจริงๆจังๆ และเมื่อการดำเนินงานกำลังต่อเนื่อง อยู่ดีๆก็มีการเปลี่ยนแปลงภายในอยู่สม่ำเสมอ ทำให้ไม่สามารถต่อยอดความสำเร็จที่ทำได้ในอดีต เคราะห์ก็ตกมาอยู่กับแฟนบอลอย่างเราๆ ต้องก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมกันไป

2.) นักฟุตบอลบางคนเล่นไม่สมกับความภาคภูมิใจ

คำว่า “บอลนอกอยู่ในใจ บอลไทยอยู่ในสายเลือด” ความศรัทธาเหล่านี้กำลังจะหมดไปกับการได้เห็นนักฟุตบอลไทย (บางคน) เล่นเหยาะๆแหยะๆใจไม่สู้ ไม่มีลูกบู๊หรือความละเอียดในเกม ซึ่งผลงานในสนามเป็นตัวชี้วัดและพิสูจน์กันให้เห็นอยู่แล้วในแต่ละการแข่งขัน ไม่ใช่มัวแต่แอ็คท่าเท่ๆ จัดทรงผมหล่อๆ ใส่สตั๊ดสีสวยๆไปวันๆ แฟนบอลบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า

“บางคนเล่นไม่ดีก็ยังติดทีมชาติอยู่นั่นแหละ” นี่แหละครับปัญหา!

3.) ระเบียบวินัย

กว่าที่จะประสบความสำเร็จหรือทำผลงานได้ดีในการแข่งขันจริง ก็ต้องมีการฝึกซ้อมที่ดีและมีระเบียบวินัย นักฟุตบอลหลายคนในยุคนี้ “ไม่ชอบเหนื่อย” ฟังแล้วอาจจะดูใจร้ายไปหน่อย แต่จากการให้สัมภาษณ์จากผู้จัดการทีมต่างชาติหลายๆคน ที่มาทำทีมชาติไทยกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน

โดยผู้จัดการทีมเหล่านั้นดีกรีก็ไม่ธรรมดานะครับ มีชื่อเสียงในระดับหนึ่งและสมาคมต้องเสียเงินจ้างปีหนึ่งเป็น 10 ล้านบาท แต่ไม่ว่าจะนำรูปแบบการฝึกซ้อมหรือสต๊าฟฟ์โค้ชที่ดีมาเพียงใด ถ้าเราไม่มีระเบียบวินัยในตัวเองในการฝึกซ้อม ทุกอย่างก็จบ

TheKooRoo ไม่ได้มาเปรียบเทียบบอลไทยยุคเก่ายุคใหม่ หรือมาโจมตีใคร แต่ในฐานะแฟนฟุตบอลคนหนึ่งก็อยากเห็นทีมชาติไทยของเรามีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในเวทีระดับชาติให้จงได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อย่างไรก็ตามขุนพล “ช้างศึก” ในวันวานเหล่านั้นใช่ว่าจะไม่เคยประสบความล้มเหลว แต่เพียงว่าติแล้วก่อให้เห็นผลในบัดดล แล้วในปัจจุบันล่ะ เราติเพื่อก่อ….แล้วทุกวันนี้ก่อให้เกิดอะไรแล้วหรือยัง?!?!

ขอบคุณข้อมูล : https://en.wikipedia.org /// http://www.siamsport.co.th /// https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball

บทความที่น่าสนใจ : https://www.thekooroo.com/content/

Leave a Reply